อย่าตระหนก “โรคมือ เท้า ปาก” ล้างมือช่วยได้ |
Written by Administrator |
Friday, 27 July 2012 13:02 |
ขณะที่ข่าวการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก กำลังเป็นที่สนใจ 'มุมสุขภาพ' มีข้อมูลควรรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยไว้ว่า โรคมือ เท้า ปาก คือกลุ่มอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส พบบ่อยในเด็กทารก เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
สำหรับเชื้อเอนเทอโรไวรัส สาเหตุของโรคนั้นมีหลายชนิด เช่น คอกแซกกี เอ ชนิดย่อยต่างๆ, คอกแซกกี บี, เอคโคไวรัส, แอนเทอโรไวรัส 71 ส่วนที่พบบ่อยสุด คือ คอกแซกกี เอ 16
ผลจากการติดเชื้อไวรัสนี้จะทำให้มีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มพองใส ไม่คันแต่กดแล้วเจ็บ ซึ่งมักเกิดขึ้นที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม นอกจากนี้ยังอาจเกิดที่ฝ่ามือ นิ้วเท้า และฝ่าเท้า ทว่าบางรายที่ติดเชื้ออาจไม่ปรากฏอาการตุ่มพองตามบริเวณที่ระบุข้างต้น แต่กลับมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมน้ำ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้มีสัญญาณอันตราย เมื่อเกิดอาการต้องรีบส่งแพทย์ คือ ไข้สูงไม่ลด ซึม อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง และเกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ
การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะเขตร้อนชื้น เกิดแบบประปรายตลอดปี พบบ่อยช่วงหน้าฝนที่มีอากาศเย็นและชื้น การติดต่อมีทั้งได้รับเชื้อจากอุจจาระ ฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยกระเด็นเข้าปาก ส่วนการติดต่อผ่านทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย
อย่างไรก็ตาม การแพร่ติดต่อเกิดขึ้นค่อนข้างง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย แม้อาการทุเลาลงแล้ว ก็ยังคงแพร่เชื้อได้บ้าง เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระต้องใช้เวลานานราว 6-8 สัปดาห์
วิธีการรักษาโรคมือ เท้า ปาก แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ โรคนี้หากผู้ป่วยกินได้และพักผ่อนเพียงพอ อาการก็จะไม่รุนแรง และมักหายได้เองในช่วง 7-10 วัน ที่สำคัญหากผู้ป่วยเป็นเด็กทารก หรือเด็กเล็ก และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง
กรณีที่พบว่า บุตรหลานป่วยโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาเด็กพบแพทย์ แจ้งคุณครูที่โรงเรียน หยุดรักษาตัวที่บ้าน 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ควรพักผ่อนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทดี ใช้ผ้าปิดจมูกเมื่อไอจาม อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงดูผู้ป่วยต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
ในเรื่องการป้องกัน โรคนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นจึงต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี เช่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังขับถ่าย ทว่าเชื้อไวรัสก่อโรคมือ เท้า ปาก ก็ถูกทำลายได้ไม่ยาก โดยแสงอุลตราไวโอเล็ตในแสงแดด ในสภาพที่แห้ง เชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน รวมถึงการทำลายโดยการต้มที่ 50-60 องศาเซลเซียส นาน 30 ปี, ถูกน้ำยาซักล้างทั่วไป, และโดยวิธีทำให้ปราศจากเชื้อ
ข้อสงสัยที่ว่า ผู้ใหญ่สามารถติดโรคมือ เท้า ปาก จากเด็กได้หรือไม่ ตามข้อมูลของกรมควบคุมโรค เผยว่า ผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้จากการได้รับเชื้อขณะเป็นเด็ก โดยภูมิต้านทานนี้จะจำเพาะกับชนิดไวรัสที่เคยได้รับ หากได้รับเชื้อใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็สามารถป่วยได้ โดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังเด็กหรือผู้อื่นได้ ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อ เพื่อความปลอดภัยก็ควรพบแพทย์ แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการรายงานว่า มีผลทำให้แท้งบุตร หรือเด็กพิการ
สำหรับผู้ที่กำลังสับสนระหว่างโรคมือ เท้า ปาก กับโรคปากเท้าเปื่อย ว่าใช่โรคเดียวกันหรือไม่? กรมควบคุมโรค ไขคำตอบไว้ว่า โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบเฉพาะในคน และติดต่อจากคนสู่คน ขณะที่โรคปากเท้าเปื่อย ไม่ได้เกิดจากไวรัสตัวเดียวกัน ทั้งยังเป็นโรคติดต่อที่เกิดกับสัตว์กีบ อาทิ โค กระบือ แพ แกะ สุกร สัตว์จะเป็นแผลที่ปากและกีบเท้า มีอัตราป่วยตายต่ำ ไม่จัดเป็นโรคติดต่อถึงคน
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น